แกนนำนปช.ตบเท้าถกปรองดองกลาโหม แนบไอเดีย 16 หน้าเสนอป.ย.ป.

http://www.matichon.co.th/news

15

 

 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญกลุ่มการเมือง เข้าเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อสร้างความปรองดอง คือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยจะให้ข้อคิดเห็นตามกรอบ 10 ประเด็น ที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด

สำหรับแกนนำ นปช. ที่เข้าเสนอความคิดเห็น นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการนปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายนิสิต สินธุไพร นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ นายศักดิ์ระพี พรหมชาติ นายอารี ไกรนรา นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายเกริกมนตรี รุจโสตถิพัฒน์ ทั้งนี้ทาง
กลุ่มนปช. ได้จัดทำเอกสาร ข้อเสนอแนะแนวทางปรองดองความยาว จำนวน 16 หน้า มาเสนอคณะอนุกรรมการฯ

โดยนำเสนอความคิดเห็น แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ คำตอบสำหรับกรอบคำถาม 10ข้อ และมุมมองเรื่องการสร้างความปรองดองโดยยึดโยงกับข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ภายใต้หลักการความปรองดองจะเกิดได้ด้วยการสร้างประชาธิปไตย

เอกสารของ นปช. ได้ระบุข้อเสนอแนะเรื่องการปรองดอง โดยเริ่มคลี่คลายสาเหตุความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมมายาวนานนั้น เกิดจากคู่ขัดแย้งหลักระหว่างผู้ปกครองในคณะรัฐประหาร กับผู้ถูกปกครองที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ส่วนความขัดแย้งรองเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจของชนชั้นนำในฝ่ายอนุรักษ์นิยม และทั้งฝ่ายนักการเมืองจากเลือกตั้งกับพรรคอนุรักษ์นิยมด้วยกันเอง

“สิ่งสำคัญคือ เมื่อชนชั้นนำและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมยังปรับตัวให้ทันกับระบอบเสรีประชาธิปไตยและยังไม่ได้ชัยชนะในกติกาประชาธิปไตย จึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอื่น ๆ รวมทั้งกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง ช่วงปี 2549 และ 2557 ทำให้ประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงที่จะอยู่ในวัฏจักรการเมืองแบบที่จะมีเลือกตั้งและรัฐประหารวนเวียนเช่นนี้แบบไม่มีอนาคตในระบอบประชาธิปไตย”

นปช.เสนอว่า แม้การปรองดองจะเป็นเรื่องจำเป็นและมีประโยชน์ แต่ประชาชนตั้งข้อสงสัยจะสำเร็จได้โดยมีรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าภาพหรือไม่ เพราะบรรยากาศการใช้อำนาจยังมีการควบคุมสิทธิเสรีภาพและการบังคับใช้มาตรา 44 อยู่ตลอดเวลาเป็นอุปสรรค ขัดขวาง และไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคม

“ทุกฝ่ายต้องจริงใจและสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การปรองดอง หยุดวาทกรรมแห่งความเกลียดชังและอารมณ์ ใช้หลักการเหตุผลและข้อมูลที่ถูกต้อง โดยการทำความจริงให้ปรากฏโดยมีคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ และมีองค์ความรู้ในการทำการปรองดอง เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นปช.จึงมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ประกาศ คำสั่ง และมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่มุ่งหวังจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน”

นอกจากนี้ ขอให้หยุดการสร้างความร้าวฉานและความเกลียดชังรอบใหม่ ตลอดจนเรียกร้องต่อการใช้กฎหมาย การออกกฎหมาย มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ให้มีหลักนิติธรรมแท้จริงและยึดโยงกับประชาชน ถูกตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความขัดแย้งในสังคมไทย มีการเยียวยาทั้งทางคดีความและทางเศรษฐกิจสังคมโดยการทำความจริงให้ปรากฏ มีการยอมรับผิดและการให้อภัยตามหลักการปรองดองที่เป็นสากล

สำหรับคำถาม 11 ข้อนั้น นปช. มีข้อสังเกตว่า การตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการต่าง ๆ ที่ยังไม่เป็นไปตามหลักการปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ, อนุกรรมการ โดยสิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่เอื้อต่อการปรองดอง ยิ่งมีการบังคับใช้คำสั่งและกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจมาตรา 44 ตลอดจนยังมีการสร้างวาทกรรมแสดงความเกลียดชังโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง กระทั่งจากฝ่ายผู้มีอำนาจ ย่อมทำให้บรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นได้ยากมากยิ่งขึ้น

นปช. เสนอว่า คำถาม 11 ข้อที่มุ่งถามเพื่อตอบโจทย์ที่ได้สรุปไว้ล่วงหน้าแล้ว และมิได้สนใจสาเหตุแห่งปัญหา ดังนั้น นปช. จึงเน้นตอบคำถามด้วยหลักคิดทั่วไป คือ อุดมการณ์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย หลักคิดเสรีนิยมที่ให้ความเห็นแตกต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ รวมทั้งการยอมรับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองด้านต่าง ๆ และหลักคิดเรื่องนิติรัฐนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

“ในคำถาม 11 ข้อเราสนใจประเด็นการเมือง, ความเหลื่อมล้ำ, กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม การทำการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการปรองดองและข้อสุดท้ายซึ่งเป็นคำถามปลายเปิดต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและการแก้ไขในทัศนะของ นปช.”

ในคำถามด้านการเมืองนั้น นปช.เสนอให้ยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติ การเมืองการปกครองมีเป้าหมายที่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้คู่ขัดแย้งเลิกถือเอาบุคคลสำคัญกว่าระบบและระบอบ ไม่ใช้การทหารและความรุนแรงมาแก้ปัญหาทางการเมือง โดยให้การเมืองแก้ความขัดแย้งด้วยการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหารและการออกกฎหมาย, คำสั่งจากระบอบรัฏฐาธิปัตย์เพื่อปราบปรามประชาชน

“คำสั่งต่าง ๆ และรัฐธรรมนูญที่มาจากระบอบรัฏฐาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นฉบับชั่วคราวและฉบับประชามติที่ไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตยต้องยกเลิกและดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งยกเลิกกฎหมายและระเบียบใด ๆ ที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ชอบธรรม”

ส่วนการปฏิรูปประเทศและการวางยุทธศาสตร์ชาตินั้น นปช. เสนอให้ดำเนินการในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชนตามกติการะบอบประชาธิปไตย องค์กรรัฐข้าราชการต่าง ๆ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนต้องขึ้นต่ออำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ทำตัวเป็นอิสระและมีอำนาจเหนืออำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตย”

นปช.ยังเสนอให้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องยึดโยงกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ตรวจสอบได้ อยู่บนพื้นฐานนิติธรรมและความเท่าเทียมกันและสอดคล้องกับกฎหมายและกติกาสากล ทั้งต้องได้รับการปฏิรูปให้เป็นนิติธรรมตามกรอบประชาธิปไตย ที่สำคัญองค์กรอิสระต้องได้รับการปฏิรูปให้ยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้และมีอำนาจเหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตย

สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำ นปช.เชื่อว่า ได้ผูกติดกับการเมืองที่ต้องการความเท่าเทียม ต้องเน้น ระบบสวัสดิการของรัฐ การใช้ระบบภาษีที่ก้าวหน้า ภาษีมรดก และการจำกัดการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องปรับให้มีความสามารถแข่งขันในเวทีโลกบนลักษณะเฉพาะของไทย และประชาชนถูกยกระดับด้านความรู้ความสามารถและรายได้จนสามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

“ประเด็นปฏิรูปเร่งด่วนที่เสนอคือ การปฏิรูประบบราชการทหารพลเรือน, องค์กรอิสระ, กระบวนการยุติธรรม, การศึกษา, ระบบตรวจสอบแบบสากลที่ได้มาตรฐาน ด้านเศรษฐกิจต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ความล้าหลังในภาคการผลิต, และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องอยู่ในแนวทางและบรรยากาศของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย อันยึดโยงกับประชาชน”

นปช. เสนอว่า การแก้ไขปัญหาให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุขต้องสร้างการยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบโลกเสรีประชาธิปไตยและกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองต่าง ๆ ต้องสร้างนิติรัฐนิติธรรมบนพื้นฐานความเท่าเทียมของคน ต้องมีการปรองดองตามหลักการและทำให้ความจริงปรากฏ และต้องเยียวยาผู้สูญเสียในอดีตอย่างเหมาะสมในด้านต่าง ๆ

รวมทั้งคดีความตลอดจนการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต เพื่อระงับความขัดแย้งรุนแรงในอนาคตเราเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนจากอำนาจประชาชนและยกเลิกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ที่เกิดจากคณะรัฐประหารทุกฉบับที่ยังมีผลใช้อยู่ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปบรรดากฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรมและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการปรองดองตามหลักการรวมทั้งกองทัพ และ คสช.