มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยังเงียบ หลังถูกแฉปล่อยผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้าน ถูกล้วงข้อมูล

https://hilight.kapook.com/

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
ภาพจาก PAUL MAROTTA / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP

          มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยังเงียบ หลังเฟซบุ๊กเจอวิกฤต ปล่อยให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้กว่า 50 ล้านคน ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มผุดแคมเปญ #DeleteFacebook

วันที่ 19 มีนาคม 2561 เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน รายงานว่า เฟซบุ๊ก มีอันต้องเผชิญมรสุมอย่างหนัก หลังมีรายงานว่าปล่อยให้บริษัท เคมบริดจ์ อนาลิติกา (Cambridge Analytica) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย สามารถเข้าถึงและดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้กว่า 50 ล้านคนไปใช้ประโยชน์ได้ โดย เคมบริดจ์ อนาลิติกา ก็คือบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการทำแคมเปญหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

กระแสข่าวฉาวดังกล่าวส่งผลให้หุ้นของเฟซบุ๊ก ดิ่งลงถึง 6.77% ในวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าหุ้นหายไปร่วม 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนในเรื่องกระแสข่าวดังกล่าว ขณะที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก ซึ่งถือครองหุ้นเฟซบุ๊กอยู่ 16% ต้องสูญเงินไปถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมูลค่าหุ้นที่ตกลง

ท่ามกลางการตั้งคำถามจากสังคม รวมถึงหลายฝ่ายได้ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ทาง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ยังคงไม่แสดงท่าทีใด ๆ ต่อเรื่องนี้มานานกว่า 48 ชั่วโมงแล้ว นับตั้งแต่มีข่าวดังกล่าว

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
ภาพจาก EMMANUEL DUNAND / AFP

สำหรับวิธีที่ เคมบริดจ์ อนาลิติกา เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นี้ เริ่มต้นจากนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์รายหนึ่ง ได้สร้างแอปฯ ทดสอบคำทำนายบุคลิกภาพขึ้น ในชื่อ “thisisyourdigitallife” ซึ่งแอปฯ นี้เองก็ได้เป็นช่องทางให้เขาเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก และเพื่อนในเฟซบุ๊กของคนที่เข้ามาทำแบบทดสอบ กระทั่งต่อมาทางบริษัท Global Science Research ของนักจิตวิทยารายนี้ ก็ได้ทำข้อตกลงในการแชร์ข้อมูลผู้ใช้ที่เก็บไว้แก่ เคมบริดจ์ อนาลิติกา

อย่างไรก็ตาม ทาง เคมบริดจ์ อนาลิติกา ยังคงยืนกรานปฏิเสธ ไม่รู้เห็นเรื่องที่ข้อมูลดังกล่าวนั้นถูกนำออกมาอย่างไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องแนวทางการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กมาหลายครั้งแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเฟซบุ๊กก็ยังได้รับความนิยมและมีคนจากทั่วโลกเข้ามาใช้บริการมากกว่า 2 พันล้านคน จนกระทั่งเรื่องอื้อฉาวในครั้งนี้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่หมดความไว้วางใจในบริษัทได้เริ่มแคมเปญ ติดแฮชแท็ก #DeleteFacebook ผ่านทางทวิตเตอร์ รวมถึงมีการผุดแฮชแท็ก #WheresZuck เพื่อสะท้อนถึงการเงียบหายของซีอีโอคนดัง

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
ภาพจาก JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
independent.co.uk, news.com.au, channelnewsasia.com