คสช.ใช้ ม.44 ลอยตัวราคา ‘น้ำตาล’ มีผลแล้ว! ลุ้นถูกลง 2-3บาทต่อกิโลกรัม

https://www.matichon.co.th/news/

แฟ้มภาพมติชน

หลังจากเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2561 เรื่อง การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

โดยที่รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ.2559-2564 ซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นสากล และสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงมีความจําเป็นต้องมีการยกเว้นการใช้บังคับ (18) ของมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เป็นการชั่วคราว เพื่อให้การดําเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบสามารถบรรลุผลสําเร็จ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทราย อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้ ม.44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย มีผลทันที โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมแถลงข่าวเรื่องนี้อย่างเป็นทางการวันที่17 มกราคมนี้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าราคาน้ำตาลในประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ 22-23 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จะลดลง 2-3 บาทต่อกิโลกรัม  ตามราคาตลาดโลกที่ลดลง

สำหรับสาเหตุการลอยตัวมาจากความจำเป็นในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และกฎหมายที่ใช้มาเป็นเวลานาน ประกอบกับที่ผ่านมาประเทศบราซิลฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ว่าไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้จากการเพิ่มเงินค่าอ้อยให้ชาวไร่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องปรับโครงสร้าง ไม่เช่นนั้นอาจแพ้ให้กับบราซิลได้