https://www.matichon.co.th/news/
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ อนาคตข้าวไทยเพื่อความยั่งยืน ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว อาทิ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าว สมาคมชาวนา และนักวิชาการ ประมาณ 250 คน เข้าร่วมระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ข้าว และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทย ว่า จะนำข้อสรุปเสนอต่อประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในการประชุมแยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มตลาดทั่วไป เพื่อกำหนดความต้องการใช้ข้าวทั้งในและต่างประเทศ แนวทางการปรับปรุงมาตรการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงการปรับปรุงกฏระเบียบของภาครัฐที่เป็นอุปสรรคและไม่ให้มีความซ้ำซ้อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ค้าข้าว 2.กลุ่มตลาดเฉพาะ เน้นการส่งเสริมการตลาด โดยใช้การตลาดนำการผลิต รวมถึงยกระดับมาตรฐานคุณภาพข้าว เพื่อยกระดับข้าวไทยให้เป็นพรีเมียมอย่างแท้จริง และ 3.กลุ่มตลาดสินค้านวัตกรรมและมูลค่าเพิ่ม เน้นสนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำมาต่อยอดเชิงนวัตกรรมทางการค้าอย่างต่อเนื่อง
“ ไทยเป็นประเทศที่ปลูกข้าวเก่งที่สุด แต่ไม่สามารถเป็นเจ้าโลกอย่างแท้จริง ซึ่งยังต้องการให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งให้ได้ และต้องการเพิ่มมูลค่า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตและการปรับปรุงคุณภาพข้าว พบว่าขณะนี้ความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง ตามการบริโภคลดลง จากกระแสรักสุขภาพไม่ทานแป้ง และคนไม่นิยมหุงข้าวทาน ประกอบกับหลายประเทศเริ่มปลูกข้าว เพื่อทดแทนนำเข้า ทำให้ปีผลิต2560/61 สต็อกข้าวในโลกสูงถึง 140 ล้านตันข้าวสาร ถือว่าสูงสุดรอบ 5 ปี จากก่อนหน้านี้สต็อกข้าวจะไม่เกิน 100 ล้านตัน ”นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการผลิตข้าวในปี 2561/2562 คาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวไทยอยู่ที่ 30.4 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 19.8 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดพื้นที่การปลูกลง โดยส่งผลให้ราคาข้าวมีแนวโน้มดีขึ้น ล่าสุดข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ 15,000-16,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกขาวตันละ7,000-8,000 บาทต่อตัน
ส่วนเรื่องค่าเงินบาท นั้น เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งไทยในฐานะผู้ปลูกข้าวต้องปรับตัว อย่าขายข้าวแบบปกติ ต้องเพิ่มนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด และการบริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น คนไม่นิยมหุงข้าว ต้องผลิตเป็นข้าวสำเร็จพร้อมทาน เป็นต้น
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกลำบาก เพราะส่งผลให้ราคาสูงกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะกับเวียดนามในปี 2560 ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าจาก 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐเมื่อต้นปี ปลายปีมาอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ข้าวไทยแพงว่าเวียดนาม 15-20 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้น ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลค่าเงินให้เหมาะสม และใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค ขณะนี้ผลจากค่าเงินทำให้ข้างไทยแพงกว่าเวียดนามแล้วประมาณ 7%
ร.ต.ท.เจริญกล่าวว่า ปี2561คาดว่าการส่งออกข้าว 9.5 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2560 ที่ส่งออกประมาณ11.3-11.5 ล้านตัน เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการระบายข้าวเก่าในสต็อกเก่าเกือบหมด ทำให้ปริมาณข้าวเพื่อการส่งออกน้อยลง ขณะนี้ที่ผู้ส่งออกต้องการคือ ส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ข้าวตรงกับความต้องการตลาด เช่น ข้าวนิ่มที่ตลาดจีนต้องการมาก แต่ไทยปลูกน้อยมาก ขณะที่เวียดนามปลูกข้าวนิ่มกว่า 10 สายพันธุ์และข้าวนิ่มเวียดนามขายได้แพงกว่าข้าวไทย 80-100 เหรียญสหรัฐต่อตัน