https://www.matichon.co.th/news/
เมื่อเวลา10.00 น. วันที่ 5 มกราคม ที่โรงพยาบาลตำรวจ(รพ.ตร.) พล.ต.ท.นพ.วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และ พล.ต.ต.พญ.พรเพ็ญ บุนนาค หัวหน้าภาควิชาจิตเวช ร่วมกันเปิดกิจกรรมเปิดตัวเพจเฟซบุ๊ก “Depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ” เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับข้าราชการตำรวจและครอบครัวเพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาปัญหาโรคซึมเศร้า พร้อมเปิดตัวทีมแพทย์จิตเวชและสายด่วนที่พร้อมจะให้คำปรึกษารวมถึงวิธีการสังเกตตัวเองและคนรอบข้างที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้า
ว่าที่พ.ต.ต.หญิง ปองขวัญ ยิ้มสอาด นายแพทย์ (สบ.2) กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีตำรวจมาปรึกษาขอคำแนะนำหลังพบว่าเริ่มมีปัญหาการป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 170 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาความเครียดสะสมจากการปฏิบัติหน้าที่ มีอาการซึมเศร้า เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อยและนอนไม่หลับ ซึ่งระดับความรุนแรงของโรคนี้มี 3 ระดับ คือระดับขั้นต้น จะมีอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ระดับกลาง คือมีความคิดทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นโดยสามารถยับยั้งหรือควบคุมตัวเองได้ และระดับสูงสุดคือมีอาการหลอน หูแว่วถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาแนะนำให้มาพบแพทย์จิตเวชซึ่งจะมีกระบวนการในการผ่อนคลายบำบัดรักษา โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาด กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้
พล.ต.ท.นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นห่วงปัญหาสุขภาพจิตของข้าราชการตำรวจ สั่งการให้ดูแลตำรวจและครอบครัว ตำรวจ เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย จึงเปิดตัวเพจนี้ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้คำปรึกษาขอคำแนะนำ รวมถึงการป้องกันและรักษาในเบื้องต้น โดยมีทีมจิตแพทย์และนักสหวิชาชีพชุดใหม่เป็นผู้ให้คำปรึกษารวมถึงมีสายด่วน 081-932 0000 ที่พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยในปีนี้รพ.ตร.ได้ออกแบบสำรวจสุขภาพจิตตำรวจทั่วประเทศเพื่อสำรวจข้อมูลและจะได้เร่งช่วยเหลือผู้ที่เริ่มมีปัญหาด้านจิตใจ เมื่อสำรวจแล้วจะทราบข้อมูลที่แท้จริงว่าสาเหตุความเครียด และซึมเศร้าาของตำรวจเกิดจากอะไร ยอมรับว่าบางคนที่เข้ามาปรึกษาก่อนนี้มีความเครียดจากงาน การแต่งตั้งโยกย้ายบ้าง
พล.ต.ท.นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ขณะที่สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558- 2560 มีข้าราชการตำรวจ ครอบครัวและประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับบริการกลุ่มโรคซึมเศร้า จำนวนกว่า 1,980 คน โดยในปี 2558 มี 479 คน ในปี 2559 มี 640 คน และในปี 2560 มีจำนวน 861 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมตำรวจที่มาปรึกษากับจิตแพทย์เป็นการส่วนตัว เนื่องจากยังมีความคิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในด้านลบ และหวั่นกระทบหน้าที่การงานอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีราชการตำรวจฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึงปีละเกือบ40 คน หรือคิดเป็นอัตราการฆ่าตัวตาย 19 คนต่อตำรวจแสนคน เพราะตำรวจมีอาวุธประจำกาย และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชาชนถึงสามเท่า ขณะที่สถิติโลกมีคนฆ่าตัวตายมากกว่า 8แสนคนต่อปี หรือเฉลี่ยทุก40วินาที จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ1คน