สนช. ไม่รีเซตปล่อยป.ป.ช.อยู่ต่อ “พรเพชร” นัดสมาชิกลงมติวาระสาม 25 ธ.ค.นี้

https://www.matichon.co.th/news/

ภาพมติชนออนไลน์

สนช. ปล่อยผีป.ป.ช.อยู่ยาว กรธ.อัดสนช.อย่าสร้างปัญหาเพื่อเอื้อป.ป.ช.2 คน นัดลงมติเห็นชอบ 25 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช. ในช่วงบ่ายและเย็นเป็นการอภิปรายในมาตรา 100 ว่าด้วยแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคู่สมรส ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกำหนดให้คู่สมรสในที่นี้หมายความรวมถึงคู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย โดยสมาชิกสนช.ไม่ได้อภิปรายท้วงติงแต่อย่างใด

ขณะที่ ประเด็นที่มีอภิปรายถกเถียงกันอย่างเข้มข้น คือ มาตรา 178 ว่าด้วยการให้กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง และยกเว้นไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการป.ป.ช.บางประการตามที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯมาบังคับใช้

โดย นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษากรธ. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญอยู่ในตำแหน่งต่อไป กล่าวว่า รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ดังจะเห็นได้จากการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการในองค์กรอิสระ ดังนั้น กรรมการองค์กรอิสระที่จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ก็ควรจะต้องมีคุณสมบัติต้องตรงตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย

“ในสภาแห่งนี้เคยอภิปรายเรื่องหลักนิติธรรมเรื่องการให้กกต.พ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบ อีกองค์กรหนึ่งพ้นไปแต่อีกองค์กรหนึ่งอยู่จนครบ แต่สำหรับกรณีของป.ป.ช.นั้นผมอยากให้รักษาหลักการในเรื่องการให้กรรมการป.ป.ช.ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ใครมากล่าวอ้างได้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ” นายเจษฎ์ กล่าว

ด้าน นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ.ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯเสียงข้างน้อย กล่าวว่า จุดยืนของกรธ.ยังคงเป็นเหมือนเดิม คือ กรรมการองค์กรอิสระต้องมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น ที่ผ่านมากรธ.ไม่เคยหยิบชื่อกรรมการองค์กรอิสระเพื่อมาดูว่าใครควรอยู่ใครควรไป ไม่เคยเขียนกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ใครเพราะใครจะอยู่หรือไปต้องเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

นายภัทระ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญของมาตรา 178 คือ การไปกำหนดให้บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระมาก่อน และดำรงตำแหน่งในอดีตไม่ถึงระดับอธิบดียังสามารถเป็นกรรมการป.ป.ช.ต่อไปได้ จะทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะทั้งสองเรื่องเป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 กำหนดเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเอาไว้ ดังนั้น ถ้าสนช.ลงมติเห็นชอบไปตามที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข จะเท่ากับเป็นการให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมายกเว้นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อไม่นานมานี้มีการเอกสารของสภาเปิดเผยออกมาว่าจะการยกเว้นไม่นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าวมาใช้บังคับจะมีผลต่อกรรมการป.ป.ช.คนใด ปรากฏว่ามีการระบุชื่อ 2 คน คือ พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ และกรรมการป.ป.ช.อีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเอ่ยชื่อใน ณ ที่นี้ เนื่องจากไม่ขออนุญาตกรรมการป.ป.ช.ท่านนั้นเอาไว้

“หากลงมติไปตามนี้จะทำให้ป.ป.ช.ทั้งสองท่านไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เพราะจะถูกร้องเรียนตลอดว่ามีคุณสมบัติไม่ตรงและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญตลอดเวลา และจะเป็นปัญหาวิกฤติในอนาคต”

ขณะที่นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า ในบทเฉพาะกาลที่ต้องยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้น เนื่องจากในบทเฉพาะกาลให้กรรมการป.ป.ช.ดำรงตำแหน่งต่อไปได้ โดยระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งก็คือกรรมการป.ป.ช. จึงเป็นเหตุให้กรรมาธิการต้องยกเว้นลักษณะต้องห้าม อีกทั้งลักษณะต้องห้ามในกฎหมายเก่ากับใหม่นั้นก็ไม่ตรงกัน และรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องยกเว้น นอกจากนี้ เรายังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมารองรับอยู่แล้ว

ส่วนพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกมธ.วิสามัญฯ กล่าวชี้แจงว่า การพิจารณามาตรา 178 เราไม่ได้พิจารณาว่าบทเฉพาะกาลนี้จะเป็นไปเพื่อรองรับใคร แต่เป็นไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ซึ่งข้อห่วงใยต่างๆที่ว่าต่อไปเรื่องนี้จะมีปัญหาโดยจะมีผู้ไปยื่นเรื่อง ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ไปว่าอะไรไม่ได้ เพราะวันนี้เราดูตามรัฐธรรมนูญ และสิ่งสำคัญในเรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมและมีศักยภาพ ยืนยันว่าคณะกมธ.ได้พิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว และคิดว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปน่าจะสามารถช่วยประเทศชาติได้ในช่วงกำลังเปลี่ยนผ่าน โดยเราได้ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว แต่ในอนาคตใครจะว่าอย่างไรก็สามารถชี้แจง และยืนยันอีกครั้งคณะกมธ.เสียงข้างมากได้ทำไปเพื่อประเทศชาติและเพื่อส่วนรวมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านและแก้ไขปัญหาการทุจริตให้เรียบร้อย

ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.ไม่ได้มีการแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 178 โดยยังคงให้เป็นไปตามเนื้อหาที่คณะกมธ.วิสามัญฯเสียงข้างมากแก้ไข โดยมีเนื้อหาว่า “ให้ประธานกรรมการป.ป.ช.และกรรมการป.ป.ช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19 (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ 18 มิให้นำมาใช้บังคับ”

ภายหลังจากสมาชิกสนช.อภิปรายเสร็จสิ้นครบทั้ง 193 มาตรา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าการลงมติเป็นรายมาตราในวาระ 2 และการให้ความเห็นชอบในวาระ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม 10.00น. และสั่งปิดการประชุมเวลา 18.00น.