‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ เพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้แตะ3.9%

http://www.bangkokbiznews.com/news/

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย “ปรับมุมมองศกไทย.” ปีนี้ดีขึ้นเป็น 3.9% จากเดิม3.7% และปี 61ที่ 4% ชี้ลงทุนรัฐและเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อน ชดเชยท่องเที่ยวและส่งออกผ่อนแรงลงจากฐานสูงปีนี้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เครือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้เป็น 3.9% จากมุมมองเดิมที่ 3.7% พร้อมปรับตัวเลขส่งออกปีนี้เติบโตที่ 9% การปรับจีดีพีรอบนี้มาจากการส่งออกที่ขยายตัวดีกว่าคาด ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจีดีพีเติบโตที่ 4.0% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐและเอกชนจะช่วยชดเชยการผ่อนแรงของการส่งออกและท่องเที่ยวตามฐานที่สูงไปมากแล้ว ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในปี 2561 ยังคงอยู่ที่ประเด็นความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศ

ส่วนแนวโน้มสินเชื่อธนาคารในช่วงปี 2561 เชื่อว่า ขยายตัวที่ 4.5% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงประคองทิศทางเติบโตได้ดีกว่าสินเชื่อเอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่อรายย่อยอาจโตในกรอบจำกัดตัวที่เร่งขึ้นยังมีน้ำหนักน้อย ทั้งนี้มาจากสินเชื่อเช่าซื้อในปีนี้เติบโตแบบเร่งตัว ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังคงจำกัดกรอบการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงทิศทางบวกจากสินเชื่อไม่มีหลักประกันมีผลหนุนพอร์ตรวมไม่มากนักเข้ามาประกอบด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯประเมินสินเชื่อธุรกิจปีหน้าเติบโตที่ 3.5% สินเชื่อรายย่อยเติบโตราว 5.5% สินเชื่อบ้านเติบโต 6.0% สินเชื่อเช่าซื้อเติบโต 5.5% สินเชื่อบัตรเครดิตเติบโตราว 6.5% และสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตเพียง 1% ส่วนแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อรวมเติบโตสูงถึง 4.5% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปี 2561 คาดว่าทรงตัวแต่แบงก์ยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ยอดคงค้าง NPL จะยไม่ลดลงมากนักเนื่จากสัญญาณกสรฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กนะจายครอบคลุมทุกภาคส่วน

“สินเชื่อธุรกิจปีหน้าคาดว่าขยายตัว 3.5% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุน มองว่า ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อterm Loan อาจฟื้นตัวได้สม่ำเสมอต่อเนื่องมากขึ้นกว่าปีนี้ โดยเฉพาะหากแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ หนุนบรรยากาศการลงทุนของประเทศในภาพรวม ขณะที่สินเชื่อเทรดไฟแนนซ์ยังน่าจะโตได้ต่อเนื่องตามมูลค่าส่งออก” ดร.เชาว์ กล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ได้คาดการณ์บรรยากาศการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2561 เชื่อว่าดีขึ้นขณะที่ผู้ประกอบกสรทุกกลุ่มเร่งขยายฐานบัตรสู่ลูกค้ากลุ่มบน ส่วนมาตรการคุมหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีส่วนช่วยดูแลการก่อหนี้ใหม่ได้ โดยสัดส่วนกว่า 14.7% ของผู้ถือบัตรเครดิตได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ และมีผลต่อบัตรใหม่ไม่ได้รับการอนุมัติ 21.4% มีวินัยในการใช้จ่ายมากขึ้น 20.4% บัตรใหม่ได้รับอนุมัติช้า 21.4% ผ่อนจ่ายดอกเบี้ยลดลง 23.5% และวงเงินที่ได้รับไม่เพียงพอราว 38.8%