http://www.matichon.co.th/news
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงการศึกษาดูงาน โครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ช่วยผู้ตรวจราชการมืออาชีพ ปีงบประมาณ 2560 ระหว่างวันที่ 12 – 15 มกราคม ที่ประเทศสิงคโปร์ หลังเพจเฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านต่อต้านคอรั่ปชั่นแห่งประเทศไทยโพสต์แฉหัวข้อ “หน่วยงานใต้จมูกนายกฯ ดูงานตรวจราชการที่ Universal Studios” นั้นขอเรียนชี้แจง ดังนี้
1.การศึกษาดูงานมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระบบการตรวจราชการและระบบการบริหารจัดการ โดยนำแนวคิดในการบริหารจัดการของประเทศต้นแบบมาเทียบเคียงกับประเทศไทยรวมถึงนำทักษะต่างๆ มาปรับใช้ในการตรวจราชการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีกำหนดการเดินทางระหว่างวันที่ 12 – 15 มกราคม 2560 รวม 4 วัน สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
1.1 วันที่ 12 มกราคม 2560 คณะเดินทางถึงสิงคโปร์ จากนั้นในช่วงบ่าย คณะเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการองค์ความรู้และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ณ Singapore Human Resources Institute (SHRI)
1.2 วันที่ 13 มกราคมช่วงเช้า ไปศึกษาดูงานการวางผังเมืองแบบอนุรักษ์นิยมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ Urban Redevelopment Authority (URA) ช่วงบ่าย ศึกษาดูงานการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนแบบบูรณาการ และการเชื่อมต่อระบบการขนส่งมวลชน ณ Land Transport Gallery (Land Transport Authority)
1.3 วันที่ 14 มกราคม ช่วงเช้า ไปศึกษาดูงานด้านระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยการนำขยะมาเผา ทำให้เกิดเป็นพลังงานความร้อนให้กับหม้อไอน้ำ ซึ่งจะใช้ขับเคลื่อนกังหันไฟฟ้า ณ Tuas South Incineration Plant (TSIP) ช่วงบ่าย การศึกษาสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ด้านการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ Supertree Grove ณ Garden by the Bay
และ
1.4 วันที่ 15 มกราคมการศึกษาสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และบริบทด้านต่างๆ ในพื้นที่รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ
การศึกษาดูงานนอกจากศึกษาดูงานหน่วยงานข้างต้นทั้ง 4 แห่งแล้ว ยังได้มีการศึกษาสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ วิถีชีวิต สภาพบ้านเมือง วัฒนธรรม การท่องเที่ยว รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการศึกษาสภาพแวดล้อมโดยรวม และการวางผังเมือง ซึ่งก่อให้เกิดการศึกษาเปรียบเทียบ เช่น Supertree Grove ณ Garden by the Bay เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศน์ ด้านพฤษศาสตร์เขตร้อน ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการนำทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด มาผสมผสานกับการบริการจัดการที่ดี ควบคู่ไปกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมสนับสนุน รวมทั้ง เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่ทุกคนต้องมาเยี่ยมชม สำหรับยูนิเวอร์แซล สตูดิโอมีการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานระดับโลก เช่น กระบวนการวางแผนการจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด
การจัดการสิ่งแวดล้อม การบริหารบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและบริการ การจัดหารายได้ ระบบการรักษาความปลอดภัย หลักการประชาสัมพันธ์และการตลาด ทั้งนี้ สปน. ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาดูงาน รวมทั้ง การศึกษาสภาพแวดล้อมที่จะนำมาศึกษา วิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบในการนำมาใช้ประโยชน์ในงานตรวจราชการ เช่น การพัฒนาทรัพยากรบุคคลตามยุทธศาสตร์ 20 ปี การวางผังเมือง การจัดการเรื่องการจราจร ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ ทั้งเรื่องขยะที่สามารถนำขยะมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในการตรวจราชการแบบบูรณาการ ปี 2560
2. ประเด็นงบประมาณ
สำหรับประเด็นงบประมาณที่เหลือจ่ายนั้น เมื่อสิ้นปีงบประมาณ หากสปน. ยังไม่ได้มีการนำไปใช้ในภารกิจทางราชการ ตามระบบงบประมาณจะต้องส่งคืนคลังต่อไป
3. ผลการศึกษาดูงาน
ผลที่ได้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้มีความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์ด้านบุคลากร โดยหน่วยงานการบริหารจัดการองค์ความรู้และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสิงคโปร์ Singapore Human Resources Institute (SHRI) มีความประสงค์ที่จะประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย โดยได้ติดต่อผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อขอความอนุเคราะห์สปน.ในการจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของ SHRI และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในอนาคต สปน.พิจารณาแล้วเห็นสมควรประสานเชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันพระปกเกล้า ต่อมาได้รับการประสานแจ้งจาก SHRI ว่าขอเลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากผู้บริหาร SHRI ติดภารกิจสำคัญไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้
นอกจากนี้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในฐานะผู้ช่วยผู้ตรวจราชการจากกระทรวงต่าง ๆ ยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการไปศึกษาดูงานและการศึกษาสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานและการตรวจราชการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งสามารถเปรียบเทียบและยกกรณีตัวอย่าง (Best Practice) ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยรับตรวจเพื่อนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ต่อไป