https://www.matichon.co.th/news/
“สนช.” มติเอกฉันท์ ผ่านกม.ศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมต่ออายุตุลาการศาลรธน. 5 คน อยู่ยาวจนกว่าจะมีการประชุมสภาฯนัดแรก
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนั้นนายสุรชัยได้แจ้งให้สมาชิกในที่ประชุมทราบว่า พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล อดีตสมาชิกสนช.ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกสนช.ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน ทำให้ขณะนี้สนช.เหลือจำนวนทั้งสิ้น 248 คน
จากนั้นเวลา 10.30 น. ที่ประชุมเข้าสู่วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. …ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานกมธ.วิสามัญฯ โดยประเด็นที่สมาชิกให้ความสนใจ คือ มาตรา69/1 ว่าด้วยการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมาตรการหรือวิธีการใดๆเป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นยากแก่การแก้ไขเยียวยาภายหลัง หรือ เพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึง
โดยกมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิกสนช.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกลาง หากออกมาตรการชั่วคราวและเกิดความเสียหาย หรือขัดแย้งผลคำวินิจฉัยที่จะออกมาภายหลังจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ อีกทั้งปัจจุบันมีหน่วยงานเข้ามาดำเนินการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างร้ายแรง เช่น ตำรวจ และรวมถึงมีกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุม เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะแล้ว
ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ. ชี้แจงว่า เนื้อหาที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกมาตรการชั่วคราวถือเป็นกลไกปกติในประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ เช่น เยอรมัน ออสเตรีย เป็นต้น หากไม่มีมาตรการดังกล่าวแม้จะชนะคดีก็อาจแพ้ในทางปฏิบัติ เพราะความเสียหายและผลกระทบเกิดขึ้นไปก่อนแล้ว รวมทั้งในมาตรการดังกล่าวยังกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตรวจสอบมาตรการดังกล่าว
มาตรา 71/1 ว่าด้วยหลักการภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหากมีความจำเป็นจะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลเอาไว้ในคำวินิจฉัยนั้น โดยศาลอาจกำหนดให้มีผลในอนาคตขณะใดขณะหนึ่งหลังวันอ่านคำวินิจฉัย ตามความจำเป็นหรือสมควรตามความเป็นธรรมแห่งกรณี ซึ่งสมาชิกสนช. ทักท้วงว่า การกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนตรวจสอบคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจขัดรัฐธรรมนูญได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นดังกล่าวเกิดการถกเถียงกันมากและหาข้อยุติไม่ได้ ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม สั่งพักการประชุมเพื่อให้กมธ.และสมาชิกไปตกลงกัน โดยหลังหารือกว่าหนึ่งชั่วโมง นายสมคิด ได้ชี้แจงว่า คำบังคับของศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบหรือไม่ กมธ.เสียงข้างมากหารือแล้ว ให้ตัดเนื้อหามาตรา 69/1 วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา 71/1 วรรคสองและวรรคสาม โดยไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามาตรวจสอบข้อกำหนดและมาตรการชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญ
จากนั้น เป็นการพิจารณาบทเฉพาะกาล มาตรา 76 ว่าด้วยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายสมคิด ชี้แจงว่า กมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าตุลาการ 4 คน ควรจะอยู่จนครบวาระ ไม่ควรนำคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญ ปี 60 มาใช้ ส่วนตุลาการ 5 คน ที่พ้นตำแหน่งแล้ว แต่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นั้น ได้กำหนดให้มีการสรรหาใหม่ ทั้งนี้ กมธ.เสียงข้างน้อย เห็นว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ขอให้ตุลาการที่พ้นตำแหน่ง 5 คน อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะสรรหาคนใหม่ แต่เราไม่ประสงค์ให้อยู่ยาวเนื่องจากเขาพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ขณะที่สมาชิกสนช.ที่ขอแปรญัตติไว้ เช่น นายธานี อ่อนละเอียด นายสมชาย แสวงการ เป็นต้น เห็นว่าควรให้ตุลาการ 5 คนที่อยู่ตามคำสั่งคสช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อให้ทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน ร่วมสรรหาด้วย เพื่อความสง่างาม
ขณะที่ นายสมคิด ได้อภิปรายว่า ในมาตรา 77 กมธ.เสียงข้างมากได้เขียนระยะเวลาการสรรหาตุลาการใหม่ 5 คน กำหนด 200 วัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ใกล้เคียงกับระยะเวลาการเลือกตั้งใหม่ แต่หลังจากที่ฟังการอภิปรายของสมาชิกที่ต้องการให้ตุลาการทั้ง 5 คน อยู่ต่อไปจนถึงการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกนั้น กมธ.ก็เห็นด้วย
ด้านนายสุพจน์ ไข่มุกด์ กมธ.เสียงข้างน้อย และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ท้วงติงการแก้ไขของคณะกมธ.วิสามัญฯว่า การให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงการประชุมรัฐสภาจะเกิดความสง่างาม เพราะมีประธานสภาฯและผู้นำฝ่ายค้าน แต่ความสง่างามจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อปัจจุบันตุลาการ 5 ท่านที่หมดวาระไปแล้วปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้คำสั่งคสช.ฉบับที่ 24/2560 จะพูดเรื่องสง่างามได้อย่างไร เหมือนเหล้าใหม่ในขวดใหม่จะอยู่จนแบบไม่มีที่สิ้นสุดก็ไม่มีความสง่างาม และปัจจุบันทั้ง 5 คนปฏิบัติหน้าที่ครบ 9 ปีแล้ว จะให้ปฏิบัติหน้าที่จนถึงปีที่ 11 ปีที่12 ปีที่13ต่อไป ตนคิดว่าความสง่างามจะไม่เกิดขึ้น
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติในวาระสอง เรียงรายมาตรา และลงมติในวาระสาม เห็นชอบด้วยคะแนน 188 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 เสียง ซึ่งกระบวนการต่อไป สนช.จะส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และกรธ.เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ สนช.ใช้เวลาพิจารณากฎหมายดังกล่าวกว่า 8 ชั่วโมง