ผู้ว่าฯกทม.เตรียมเพิ่มจุดบริการ จักรยานสาธารณะ ให้ทันสมัย วางแผน3ระยะ ตั้งเป้า10,000คัน

https://www.matichon.co.th/news/

เมื่อวันที่ 18 กันยายน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่กทม.ได้เริ่มโครงการรถจักรยานสาธารณะ หรือ ปันปั่น เมื่อปี 2555 โดยมีจักรยานทั้งหมด 500 คัน และสถานีจอดจักรยาน รวม 50 แห่ง โดยอยู่ในพื้นที่ย่านธุรกิจ เช่น สีลม ราชดำริ สาทร พระราม 4 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนที่ต้องการเชื่อมต่อการเดินทางทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน ปัจจุบันได้รับรายงานว่า ปันปั่นมีสมาชิกกว่า 9,000 คน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการปันปั่นให้ดียิ่งขึ้น และประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึง กทม.จะปรับปรุงและจัดให้มีระบบจักรยานสาธารณะในรูปแบบที่ทันสมัย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปรับปรุงจักรยานทำสีและติดสติกเกอร์ใหม่ภายในเดือนธันวาคมนี้ ต่อมาระยะที่ 2 จะนำเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาให้บริการ โดยไม่ให้มีแท่นล็อกจักรยาน และให้สมาชิกใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนได้ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ตัวจักรยาน ซึ่งจะนำมาให้บริการ จำนวน 1,000 คัน ในเดือนธันวาคมเช่นกัน และระยะที่ 3 จะขยายพื้นที่การให้บริการ จะเปิดให้บริษัทเอกชนที่ให้เช่าจักรยานจัดหาจักรยานสาธารณะไม่น้อยกว่า 10,000 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยสามารถสมัครสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ ใช้บริการยืม-คืน จักรยานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ด้วยสมาร์ทโฟนและแทปเล็ต

“ขณะเดียวกันจะปรับปรุงจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ 150 จุด ให้เป็นสถานีจักรยานสาธารณะที่ทันสมัย สวยงาม ไม่ทำลายภูมิทัศน์เมือง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานครอีกด้วย” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจุดจอดแท็กซี่อัจริยะมีทั้งสิ้น 150 จุดทั่วกรุงเทพฯ สามารถรองรับแท็กซี่ได้กว่า 462 คันและใช้งบประมาณมากกว่า 30 ล้านบาท โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2548 สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาจราจร อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมถึงรักษาและดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน ซึ่งกทม.ได้ทำสัญญากับบริษัทเอกชนที่ให้บริการแท็กซี่ตั้งแต่ปี 2548 และสิ้นสุดในปี 2557 อย่างไรก็ตาม หลังจากโครงการได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป แต่ผลลัพธ์กลับไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแท็กซี่ได้ กระทั่งส่งผลให้ปัจจุบันจุดจอดแท็กซี่อัจริยะถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง กลายเป็นที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์