แบงก์ชาติเตรียมปรับจีดีพีปี61 ตามแรงหนุนกำลังซื้อฟื้น-รัฐอัดลงทุน

https://www.matichon.co.th/news/

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2561มีแนวโน้มจะสูงกว่าที่ธปท.ประมาณการณ์ไว้ที่3.9% เพราะการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)คาดการณ์ว่าจีดีพีโลกจะขยายตัว 3.9% การส่งออกขยายตัวดีแต่ขยายตัวแบบชะลออยู่ที่ 4.0% เนื่องจากฐานปี2560ขยายตัวสูงถึง 9.7% สูงกว่า ธปท.ประมาณการณ์ไว้ 9.3% รวมทั้งแรงหนุนจากการบริโภคที่คาดขยายตัว 3.1% แต่ยังไม่รวมงบกลางปี ที่มีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เฟส 2 นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีเที่ยวเมืองรอง ทั้งสองปัจจัย คาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคและทำให้เศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะเป็นแรงหนุน คาดขยายตัว 9.0% ส่วนการลงทุนเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 2.3%

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การขยายตัวของการบริโภค เพราะกำลังซื้อยังไม่เข้มแข็ง โดยรายได้เกษตรกรรมหดตัวต่อเนื่องและรายได้นอกภาคเกษตรมีทิศทางลดลง อีกทั้งหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง อาจกดดันการบริโภคได้ และติดตามการลงทุนภาครัฐว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามที่วางแผนไว้หรือไม่ เพราะปีที่ผ่านมา การเบิกจ่ายภาครัฐล่าช้า รวมทั้งต้องติดตามมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐที่กระทบกับการส่งออกเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์ ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 0.3% ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีรายการสินค้าอื่นหรือไม่

“ ธปท.จะขอติดตามตัวเลขก่อนและจะมีการประเมินประมาณการณ์จีดีพีปี 2561 จะคง 3.9% หรือไม่ ในเดือนมีนาคม ซึ่งตัวเลขจีดีพีประเมินภายใต้เงื่อนไขมีการเลือกตั้งตามโรดแมปในปีนี้ การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปหรือไม่ต้องติดความชัดเจนอีกครั้ง ”นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทของไทย เดือนมกราคม ดัชนีค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า แต่ความผันผวนของค่าเงินบาทยังทรงตัว ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ซึ่งเดือนนี้ยังมีเงินเข้ามาลงทุนในพันธบัตรต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ซึ่งตัวเลขการส่งออกของไทยที่กระทรวงพาณิชย์รายงานขยายตัวได้ 9.9% ในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รูปของเงินบาทขยายตัว6.1% ซึ่งค่าเฉลี่ยเงินบาททั้งปีนี้แข็งค่าไม่ถึง 4% จึงไม่อยากให้มองแค่ค่าเงินบาทสิ้นปีแข็งค่า10%