“พล.อ.ธนะศักดิ์”เผยการก่อสร้างพระเมรุมาศคืบหน้ากว่าร้อยละ 90

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินยกพระนพปฏลมหาเศวตรฉัตรยอดพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันที่ 18 ต.ค เผยการก่อสร้างพระเมรุมาศคืบหน้ากว่าร้อยละ 90 จัดสร้างพระโกศจันทน์แล้วเสร็จวิจิตรงดงาม พร้อมกำหนด 5 โซนนิทรรศการภายหลังพระราชพิธี ให้ปชช.เข้าชม ตั้งแต่ 07.00 – 21.00 น.  

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2560 พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ 3/2560 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงยกพระนพปฏลมหาเศวตรฉัตรยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในวันที่ 18 ต.ค.2560  ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สำหรับการก่อสร้างพระเมรุมาศ นั้น ล่าสุดคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 90 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.  ซึ่งจะมีเวลาที่เหลืออีก 17 วัน ในการเก็บรายละเอียดเพื่อให้การดำเนินงานทุกด้านสมพระเกียรติยศที่สุด  นอกจากนี้ ในวันที่ 21 ก.ย. นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการเดินทางมาเป็นประธานในพิธีบวงสรวงราชรถ และพระยานมาศที่ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จก่อนจะอัญเชิญไปทำการซักซ้อนและใช้ในการพระราชพิธี ยังโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เวลา 14.00 น. 

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการจัดนิทรรรศการภายหลังพระราชพิธี ที่ประชุมได้กำหนดหมวดของการจัดนิทรรศการเป็น 5 โซน ดังนี้ 1. เมื่อเสด็จอวตาร 2.รัชกาลที่ร่มเย็น 3.เพ็ญพระราชธรรม 4.นำพระราชไมตรี และ 5. พระจักรีนิวัตฟ้า ภายใต้ชื่อนิทรรศการว่า พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์ กำหนดเวลาเข้าชมตั้งแต่เวลา 07.00 – 21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พ.ย. โดยจะมีรถรับส่ง 4 มุมเมือง 5 – 6 จุด พร้อมรับสมัครอาสาสมัครนำชมนิทรรศการ พร้อมทั้งจัดมรสพแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมตั้งแต่เวลา 07.00 – 21.00 น. ทั้งบริเวณเวทีมหรสพ และภายในพระเมรุมาศที่จะบรรเลงเพลงปี่พาทย์ที่ใช้ในพระราชพิธีเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสรับชมด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลอง 4 มุมเมืองและประจำจังหวัด โดยจะมีการจัดนิทรรศการดังกล่าวยังพระเมรุมาศจำลองทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นผู้รับผิดชอบ 

พล.ต.ธานี ฉุยฉาย ที่ปรึกษากองทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 1  กำหนดจุดคัดกรองผู้เข้าชมนิทรรศการ 3 จุด ได้แก่ แม่พระธรณีบีบมวยผม หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และท่าช้าง จากนั้นจะมีจุดพักคอยเข้าชมพระเมรุมาศและนิทรรศการบริเวณด้านในสนามหลวง  ทิศเหนือ เพื่อให้ประชาชนชมงานภูมิสถาปัตยกรรมประกอบพระเมรุมาศ อาทิ แปลงนา คันนาเลข 9 กังหันชัยพัฒนา ฝายแม๊ว สำหรับรูปแบบการเข้าชมกำลังหาข้อสรุประหว่างรูปแบบที่ 1 one way จะมีการแวะชมแต่ละจุด โดยกำหนดเวลา ซึ่งอาคารแต่ละหลังรองรับผู้ชมได้ 50 คน  ส่วนรูปแบบที่ 2 mass  ให้ประชาชนชมและถ่ายภาพงานภูมิสถาปัตยกรรม บริเวณทิศเหนือ สนามหลวง 15 นาที มีป้ายบรรยายพระเมรุมาศ อาคารแต่ละหลังชัดเจน จากนั้นให้เข้าชมพระเมรุมาศและอาคารแต่ละจุดอย่างอิสระ กำหนดเวลา 45 นาที รอบละ 2,000-3,000 คน อย่างไรก็ตาม จะต้องประชุมหารือร่วมกันว่า 2 รูปแบบนี้ จะใช้รูปแบบใดเพื่อให้ประชาชนได้ซึมซับพระเมรุมาศมากที่สุด ด้านการรักษาความปลอดภัยจะสนธิกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และเทศกิจ เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด

นางนิธีราฤดี ช่วยหนู นายช่างชำนาญงาน กลุ่มจิตรกรรม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการลงสีประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศที่หอประติมากรรมต้นแบบในส่วนของครุฑยืนกางปีก 1 องค์ลงสีใกล้แล้วเสร็จ   ส่วนอีกองค์คืบหน้าไปแล้ว 80% ส่วนองค์ที่ 3 กำลังหล่อชิ้นงาน ตกแต่ง ซึ่งจะเคลื่อนย้ายจากสำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม มาส่งเร็วๆนี้ ส่วนสัตว์หิมพานต์ของกลุ่มช่างปั้นปูนสดจังหวัดเพชรบุรีงานลงสีคืบหน้ากว่า 90 % เหลือเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อย โดยกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ก.ย. พร้อมครุฑยืนกางปีกทั้ง 3 องค์ ส่วนท้าววิรูปักษ์อยู่ในขั้นตอนลงสี เก็บลายผ้าและคัดสีผิว ซึ่งในภาพรวมคืบหน้า 50% ส่วนเทวดานั่ง เทวดายืนรอบพระเมรุมาศซึ่งเก็บที่ศาลาลูกขุน สนามหลวงนั้น ช่างเข้าไปเก็บสีองค์ให้สมบูรณ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งขณะนี้มีจิตรกรช่างสิบหมู่และจิตอาสาปฏิบัติงานลงสีจำนวน 90 คน หมุนเวียนมาทำงานทุกวัน ทั้งยังมีกลุ่มศิลปินล้านนา นำโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ มาช่วยงานลงสีในช่วงสุดท้ายจนกว่าประติมากรรมทุกชิ้นจะแล้วเสร็จ 

นายพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า  การดำเนินงานจัดสร้างฐานรองพระโกศจันทน์ (พระหีบจันทน์) และพระโกศจันทน์เสร็จสมบูรณ์อย่างวิจิตรงดงาม พร้อมสำหรับการพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์  สำหรับการจัดสร้างครั้งนี้ถือเป็นผลงานที่ช่างสิบหมู่ และจิตอาสาต่างมุ่งมั่นและทุ่มเทนับเป็นชิ้นงานที่มีความสำคัญที่สุดเท่าที่เคยจัดสร้างมา อีกทั้งยังมีความพิเศษในเชิงช่าง ศิลปกรรมเพราะองค์พระโกศจันทน์ประดับด้วยเทพพนมส่วนพระหีบจันทน์ประดับครุฑ เมื่อนำมาประกอบรวมกันแล้วเปรียบเสมือนดั่งองค์พระนารายณ์ที่อวตารลงมาและมี ครุฑเป็นราชพาหนะ

สำหรับการดำเนินงานครั้งนี้เป็นการรวมพลังของเจ้าหน้าที่ช่างสิบหมู่จำนวน 20 คน และจิตอาสาอีกกว่า 80 รวมกว่า 100 ชีวิตที่มาร่วมจัดสร้าง โดยทุกกระบวนการดำเนินการได้มีการ บันทึกองค์ความรู้ของการจัดทำเพื่อเป็นแนวทางสำหรับให้ช่างรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มจัดสร้างจนเสร็จสมบูรณ์