นายกฯ สั่ง “เคอร์ฟิว” 4 ทุ่ม-ตี 4 ทั่วประเทศ เริ่ม 3 เม.ย. แก้โควิด-19

นายกฯ สั่ง “เคอร์ฟิว” 4 ทุ่ม-ตี 4 ทั่วประเทศ เริ่ม 3 เม.ย. แก้โควิด-19

นายกฯ ออกข้อกำหนด “เคอร์ฟิว” 4 ทุ่ม-ตี 4 ทั่วประเทศ เริ่ม 3 เม.ย.แก้โควิด-19 โดยมีข้อยกเว้น  ขู่ ห้ามกักตุนสินค้า ชี้ มีโทษหนัก พร้อมเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือปชช.ด้านเศรษฐกิจ

วันที่ 2 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลง ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) ภายหลังประชุมศูนย์ ศบค. ในวันนี้ ช่วงเช้าวันนี้ จากการที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อหยุดยังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนให้ใช้มาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้ยกระดับมาตรการจากเบาไปหาหนัก

โดย นายกฯ แถลงยืนยัน ถึงความพร้อม ในการดูแลรักษาอาการป่วย มีเตียงรักษาผู้ป่วย และยารักษาที่เพียงพอ และรัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆด้าน เราต้องจำกัดการเดินทาง การรวมตัวของคนอย่างเข้มงวด ซึ่งบางจังหวัดมีการยกระดับไปก่อนแล้ว อย่าง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจะประกาศข้อกำหนด ห้ามคนออกนอกเคหสถาน โดยมีข้อยกเว้น ทั้งนี้ขอประชาชนไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า ยืนยัน ผมไม่ปล่อยให้ใครกักตุนสินค้าอย่างเด็ดขาด ไม่ให้ใครหากินบนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ การกักตุนสินค้ามีโทษสูง จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม  พล.อ.ประยุทธ์ ประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค. ได้ประกาศข้อกำหนด “เคอร์ฟิว” ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานทั่วประเทศ ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. โดยให้มีผลวันที่ 3 เม.ย. เป็นต้นไป  ภายหลังก่อนหน้านี้ได้มีการนำร่องในการออกมาตรการปิดเมือง ด้วยการกำหนดช่วงเวลาห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานไปแล้วในหลายจังหวัด แต่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ลดลง ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะระดับหลักกว่าร้อยคนทุกวัน จึงมีความจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิว.

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในการประชุม ศบค. ในช่วงเช้าที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งเรื่องการยกระดับมาตรการ ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม โดยกำหนดเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันศุกร์นี้ (3เม.ย) เป็นต้นไป ทั้งนี้ ยกเว้นผู้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ได้แก่ บุคคลากรทางการแพทย์ การขนส่งเวชภัณฑ์ การขนส่งผู้ป่วย การขนส่งด้านพลังงาน และการขนย้ายประชาชนสู่พื้นที่ควบคุม เป็นต้น