“บิ๊กตู่”ปัดให้ทหารฮุบบรรษัทน้ำมัน ซัดคปพ.ชงเอง ขู่ต้านโรงไฟฟ้างวดนี้จับแน่

“บิ๊กตู่” ปัดแนวคิดให้ทหารฮุบตั้งบรรษัทน้ำมัน ยันกรมพลังงานทหารไม่มีความสามารถดูแลได้ ซัดกลุ่มคปพ.เสนอตั้งมาเอง แถมขู่พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไม่มีจะล้อมทำเนียบ-รัฐสภา ขู่กลุ่มโรงไฟฟ้าถ่ายหินกระบี่ ชุมนุมอีกจับจริงแน่

เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 28 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีระบุว่ามีกลุ่มทหารเข้ามาแทรกแซงเนื้อหาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียมแห่งชาติ โดยให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันขึ้นมา ว่า ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ กฎหมายฉบับนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2557 พยายามจะออกมาก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามาด้วยซ้ำ แต่ก็ออกไม่ได้ เพราะมีหลายฝ่ายเรียกร้องจะเอาอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งสมัยรัฐบาลเข้ามาช่วงแรก ได้มีการเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้ามาพิจารณา โดยนอกจากสัมปทานแล้วให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต จึงเสนอกฎหมายไปอย่างนั้น และได้ดำเนินการไปตามลำดับ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า มีกลุ่มผู้เรียกร้อง กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งมีนางรสนา โตสิตระกูล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และอีกหลายคน โดยต้องขออนุญาตที่กล่าวนามคนเหล่านี้มาก

“กลุ่มคนเหล่านี้พยายามเรียกร้องและเสนอประเด็นต่างๆ มากมาย ซึ่งรัฐบาลก็รับฟังมา เพราะผมบอกแล้วว่ารัฐบาลรับฟังปัญหาและความต้องการของแต่ละพวก แต่เมื่อรวบรวมแล้วก็ส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน และผมทราบมาว่าคณะกรรมาธิการ ก็ถูกกลุ่มนี้ไปกดดันอีก ว่าจะต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ได้ ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่ายังไม่พร้อม และยังไม่มีความจำเป็น เพราะเรามีบริษัทของเดิมอยู่แล้ว โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่จำนวนมาก เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ผมเลยให้เป็นหน้าที่ของสนช.พิจารณา ก็ปรากฏว่าฝ่ายนั้นก็กดดันมาก ครั้งนี้กดดันมาอีกแล้วว่า ถ้าออกมาแล้วไม่มีบรรษัทน้ำมันก็จะมาล้อมรัฐสภา ล้อมทำเนียบรัฐบาล แบบนี้ผมถามว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อเสนออะไรผมก็รับมา และก็นำข้อเสนอไปให้สนช.พิจารณา ถ้าเขาพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมก็ต้องรับกติกา ใช้วิธีกดดันแบบนี้ประเทศชาติเสียหาย เสียประโยชน์ และกลุ่มนี้ก็ยึดโยงไปสู่โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ด้วย คือทุกที่ในเรื่องพลังงาน ผมก็ไม่เข้าใจ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการมองว่าแอบใส่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมัน เพื่อหวังให้ทหารเข้าไปดำเนินการนั้น กรมพลังงานทหารทำหน้าที่นี้ไม่ได้หรอก เขามีหน้าที่จำกัด ไม่ใช่จะมาทำหน้าที่เป็นบริษัทประกอบการธุรกิจ มันทำไม่ได้ ไม่มีใครเขาไปฝันเฟื่องขนาดนั้น เอามาเป็นประโยชน์ของทหาร มันไม่มี ขีดความสามารถไม่ถึง และตนก็ไม่ให้ทำอยู่แล้ว ฉะนั้นขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย ว่าเป็นข้อเสนอของภาคประชาชนจากหลายเครือข่าย โดยเครือข่ายหลักตนได้กล่าวนามไปแล้ว เขาเรียกร้องมาทั้งก่อนและหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาและเคยแถลงเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ว่าภาคประชาชนต้องการให้บรรจุการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันเข้าไปด้วย เมื่อพิจารณาก็ส่งเรื่องมาให้ทางสนช.รับทราบ และเป็นเรื่องของสนช.ที่จะพิจารณา ถ้าทำได้หรือมีปัญหา ผลประโยชน์ชาติเสียหายตนก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะได้ทำเต็มที่แล้ว

“ผมไม่เคยมีแนวคิดอะไรที่จะให้ทหารเข้ามาดูแลทั้งสิ้น สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือให้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมออกมาให้ได้ เพราะต้องดูเรื่องการลงทุนการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีหลายพื้นที่จะต้องมีการทำสัมปทาน ตอนนี้ยังไม่รู้ เนื่องจากวันข้างหน้าพลังงานเราจะขาดแคลน ไม่ใช่ว่าทำพรุ่งนี้แล้วสามารถสร้างหรือเจาะแหล่งพลังงานได้ทันที ต้องใช้เวลาอีก 5 – 6 ปี กว่าบริษัทเขาจะเริ่มลงทุน ตัดสินใจหาเงินกู้ จึงต้องรีบทำในวันนี้ แต่หลายคนก็ชอบคิดว่าทำไมต้องรีบทำ แล้วก็ไม่ทัน หลายประเทศก็ไปลงทุนที่อื่น ไม่มาลงทุนประเทศที่มีปัญหาขนาดนี้ เพราะวุ่นวายไปหมด ทั้งที่ข้อมูลพื้นฐานเขารู้ว่าน้ำมันเรามีมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญเราเองไม่ยอมรับ กลุ่มพวกนี้ไม่เข้าใจทั้งสิ้น เรื่องนี้จะผิดหรือถูกไม่พิจารณากันมา ผมขี้เกียจยุ่งเกี่ยวด้วย ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาก็รับผิดชอบด้วยแล้วกัน” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรษัทน้ำมันถ้าตั้งมาแล้ว ใครจะเข้ามาเป็น และใครหวังเข้ามา ตนก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่ตนแน่นอน หากคิดว่าเพื่อบรรเทาความขัดแย้ง ก็จะใส่เข้าไป เพื่อเป็นการเริ่มต้นเมื่อพร้อม ซึ่งมันไม่พร้อมง่ายๆหรอก ต้องใช้ทุนมหาศาล แล้วจะเอาทุนที่ไหน รัฐบาลจะลงทุนอีกเหรอ ไม่มีเงินลงทุนหรอก ขุดเจาะน้ำมันไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่ 5 บาท 10 บาท

“เมื่อมีปัญหาก็ไปว่ากันมาในสภา อย่ามาสงสัยรัฐบาลหรือทหาร เหตุผลที่มีคณะกรรมาธิการเป็นทหารจำนวนมาก เพราะคณะนี้ถูกต่อต้านเยอะไม่มีใครกล้าเป็น เพราะโดนกลุ่มนี้ประท้วงมาตลอด มีแต่ทหารเท่านั้นที่เป็นให้ ตนพยายามจะสร้างความชัดเจนเกิดขึ้นให้ได้ แต่หากไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่ต้องออกมาก็จบ ไม่ต้องทำอะไร แต่มันจะเสียหายกับชาติบ้านเมือง ก็ไปว่ากันมาหัดรับผิดชอบร่วมกันเสียบ้าง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเร่งรัดพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อจัดบรรษัทน้ำมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากการให้สร้างการรับรู้ที่ภาคใต้เรื่องพลังงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจปรากฏว่าไม่ค่อยเข้าใจกัน และเข้าใจไม่ตรงกันหมดเลย จึงเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง และท้ายที่สุดเราก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม

“ผมยืนยันหากมาประท้วงอีก ผมจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะให้อภัยไปหลายทีแล้ว ไม่ใช่เพราะท่านมาขัดแย้งผม ที่ผมต้องดำเนินการตามกฎหมายเพราะท่านทำผิดกฎหมาย ส่วนความคิดเห็นของท่านก็ไปแสดงในช่องทางที่ถูกต้อง และยอมรับกฎกติกากันบ้าง วันนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่จะอะไรก็ได้กับผมหรือรัฐบาล มันไม่ใช่ ถ้ามันดีมันถูกผมก็รับมาแล้ว กรณีบรรษัทน้ำมันรับมาแล้วยังมีปัญหาเลย ไม่รู้อะไรกันหนักหนา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว